เห็นหัวข้อแล้ว น้องๆ อาจจะกำลังงงอยู่ว่า พี่ Great กำลังพูดถึงอะไร อังกฤษปรับเวลาอะไร ยังไง งง!! เราไปหาคำตอบด้วยกันดีกว่า
น้องๆ ทราบหรือไม่ว่า มีหลายๆ ประเทศในโลกนี้ที่มีการปรับเวลาให้เร็วขึ้นและช้าลง 2 ครั้งในแต่ละปี หรือที่เรียกว่า DAYLIGHT SAVING TIME โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในเขตเมืองหนาวหลายๆ ประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ประเทศต่างๆ ในยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น นั่นแปลว่าทุกๆ ปี คนในประเทศนี้ จะมีวันหนึ่งที่เวลานอนจะลดลง 1 ชั่วโมง และจะมีอีกวันหนึ่งของปีที่จะมีเวลานอนเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั่วโมง ทำไมต้องปรับเวลา? ปรับเวลาแล้วมีผลยังไงกับเรา? ไปดูข้อมูลกันค่ะ
สำหรับประเทศไทย เราไม่คุ้นเคยกับการปรับเวลาขึ้นลงในแต่ละปี เวลาของเราเดินตามปกติไปเรื่อยๆ แต่ในหลายๆ ประเทศมีการปรับเวลา 2 ครั้งต่อปี ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเมษายน และอีกช่วงหนึ่งคือ เดือนตุลาคมของทุกปี โดยในเดือนมีนาคม เวลาจะถูกปรับให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมงแล้วแต่ประเทศ และเดือนตุลาคม เวลาก็จะถูกปรับให้ช้าลง กลับมาเป็นเหมือนเดิม (ประเทศในซีกโลกใต้ อย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จะกลับกัน คือ เดือนตุลาคมจะปรับเวลาเร็วขึ้น และเดือนเมษายนจะปรับเวลาช้าลง) ไปดูตัวอย่างกันดีกว่า
โดยปกติ ช่วงตุลาคมจนถึงมีนาคม ประเทศอังกฤษ จะมีเวลาห่างกับประเทศ 7 ชั่วโมง (เช่น ขณะที่ไทยเวลา 11.00 น. อังกฤษจะเป็นเวลา 04.00 น.) แต่การปรับเวลาให้เร็วขึ้นในปลายเดือนมีนาคม จะทำให้เวลาของไทยห่างกับอังกฤษ 6 ชั่วโมง (เช่น ประเทศไทยเวลา 11.00 น. ที่อังกฤษจะเป็นเวลา 05.00 น.)
ทำไมต้องปรับเวลา?
ถ้าน้องๆ เคยสังเกต หน้าหนาวบ้านเราจะมืดเร็ว ส่วนหน้าร้อนกลางวันก็จะนานขึ้นนิดหน่อย แต่ในประเทศในเขตหนาวหรือประเทศที่ไกลจากเส้นศูนย์สูตรมากๆ อย่างประเทศอังกฤษ ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา หรือแคนาดา ประเทศเหล่านี้ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนจะต่างกันมากในฤดูร้อนและฤดูหนาว อย่างเช่นในฤดูร้อน ดวงอาทิตย์จะขึ้นตอนตีสี่กว่าๆ และดวงอาทิตย์ตกตอนเกือบๆ สี่ทุ่ม หรือฤดูหนาวในไอซ์แลนด์ ดวงอาทิตย์ขึ้นเกือบๆ เที่ยงวัน และตกตอนสี่โมงเย็น หรือน้องๆ อาจจะเคยได้ยินปรากฎการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืนที่นอร์เวย์ คือมีแสงเกือบทั้งวันในหน้าร้อน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลจากการขึ้นลงของดวงอาทิตย์ในฤดูต่างๆ จึงเป็นที่มาของการปรับเวลา เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น ลดการใช้พลังงาน หรือช่วยให้ช่วงเย็นมีเวลายาวนานขึ้นเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น
การปรับเวลามีผลกับน้องๆ มั๊ย?
ถ้าน้องๆ อยู่ในประเทศที่มีการปรับเวลา ก็ต้องบอกว่ามีผลโดยตรงแน่นอน อย่างน้อยก็จะมี 2 วันที่ปรับเปลี่ยนเวลาตื่นในตอนเช้า เวลานัดหมายต่างๆ รวมถึงน้องๆ ต้องเช็คเวลาเปิด-ปิดของสถานที่ต่างๆ ในช่วงหน้าร้อนและหน้าหนาว ซึ่งมักจะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในประเทศเหล่านั้น ก็อาจจะมีผลกระทบบ้าง เช่น ถ้ามีญาติอยู่ในยุโรป ก็อาจจะต้องปรับเวลาในการติดต่อสื่อสารกัน และยิ่งถ้าเป็นการนัดหมายเพื่อทำธุรกิจ ก็ต้องเช็คเวลาให้ถูกต้องด้วยนะคะ
เรามาดูกันดีกว่าว่า ในปี 2020 นี้ แต่ละประเทศปรับเวลากันวันไหนบ้าง
เมื่อปี 2019 มีหลายๆ ประเทศในยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักรได้พิจารณาว่า อาจจะมีการยกเลิกการปรับเวลา ส่วนประเทศไหนจะยกเลิกเมื่อไหร่ ประเทศไหนจะยังคงไว้เหมือนเดิม ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไปนะคะ